วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สื่อการเรียนการสอน


ความหมายของสื่อการเรียนการสอน

               สื่อ (Media) หมายถึง ตัวกลางที่ใช้ถ่ายทอดหรือนำความรู้ในลักษณะต่าง ๆ จากผู้ส่งไปยังผู้รับให้เข้าใจ ความหมายได้ตรงกัน ในการเรียนการสอน สื่อที่ใช้เป็นตัวกลางนำความรู้ในกระบวนการสื่อความหมายระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเรียกว่าสื่อการเรียนการสอน (Instruction Media)

               ในทางการศึกษามีคำที่มีความหมายแนวเดียวกันกับสื่อการเรียนการสอน เช่น สื่อการสอน
(Instructional Media or Teaclning Media) สื่อการศึกษา (Educational media) อุปกรณ์ช่วยสอน
(Teaching Aids) เป็นต้น ในปัจจุบันนักการศึกษามักจะเรียกการนำสื่อการเรียนการสอนชนิดต่าง ๆ
มารวมกันว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational) ซึ่งหมายถึง การนำเอาวัสดุ อุปกรณ์และวิธีการมา
ใช้ร่วมกันอย่างมีระบบในการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

การจำแนกประเภทของสื่อการเรียนการสอน

มีการจำแนกประเภทสื่อการเรียนการสอนตามแนวความคิดที่แตกต่างกัน ดังตัวอย่าง

               1.  จำแนกประเภทสื่อการเรียนการสอน โดยพิจารณาจากลักษณะประสาทการรับรู้ของผู้เรียนจากการเห็นและการฟัง ซึ่งสามารถจำแนกประเภทของสื่อได้ดังต่อไปนี้

               สื่อที่เป็นภาพ (Visual Media)
                    ก. ภาพที่ไม่ต้องฉาย (Non-Projected) ได้แก่ ภาพบนกระดาษดำ ภาพจากแผ่นภาพ
ภาพจากหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
                    ข. ภาพที่ต้องฉาย (Projected) ได้แก่ ภาพจากเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องฉายสไลด์
เครื่องฉายภาพยนตร์หรือวิดีทัศน์

               สื่อที่เป็นเสียง (Audio Media) ได้แก่ สื่อประเภทเสียงที่ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ เช่น
เทปบันทึกเสียง วิทยุ เป็นต้น

               สื่อที่เป็นทั้งภาพและเสียง (Audio-Visual Media) ได้แก่ สื่อที่แสดงภาพและเสียง
พร้อม ๆ กัน เช่น สไลด์ประกอบเสียง ภาพยนตร์ที่มีเสียง (Sound-film) เทปโทรทัศน์
บทเรียนคอมพิวเตอร์ ช่วยสอน (CAI) และมัลติมิเดีย เป็นต้น


               2.  จำแนกประเภทของสื่อการเรียนการสอน ในทางเทคโนโลยีการศึกษา อาจจำแนกได้เป็น

               เครื่องมืออุปกรณ์ (Hardware) สื่อการเรียนการสอนประเภทเครื่องมือหรืออุปกรณ์
เรียกกันโดยทั่วไปว่า ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หรือสื่อใหญ่ (Big Media) หมายถึง สิ่งที่เป็น
อุปกรณ์ทางเทคนิคทั้งหลายที่ประกอบด้วยกลไกไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่สิ่ง
สิ้นเปลือง ได้แก่ เครื่องฉายทั้งหลาย เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายสไลด์
เครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องรับโทรทัศน์ รวมทั้งเครื่องมือ
หรืออุปกรณ์ทางเทคนิคอื่น ๆ ที่เป็นทางผ่านของความรู้ เช่น เครื่องฉายจุลซีวัน
เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

               วัสดุ (Software) สื่อการเรียนการสอนประเภทวัสดุ บางครั้งเรียกว่า ซอฟต์แวร์ (Software)
หรือสื่อเล็ก (Small Media) ซึ่งเป็นวัสดุที่เก็บความรู้ในลักษณะของภาพ เสียง และตัวอักษร
ในรูปแบบต่าง ๆ จำแนกได้ 2 ประเภท คือ
                    ก. วัสดุที่ต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ (Hardware) เพื่อเสนอเรื่องราว ข้อมูล
หรือความรู้ออกมาสื่อความหมายแก่ผู้เรียน ได้แก่ ฟิล์ม แผ่นใส เทปบันทึกเสียง เป็นต้น
                    ข. วัสดุที่เสนอความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ เช่น ตำราหนังสือ เอกสาร คู่มือ รูปภาพ แผ่นภาพ ของจริง ของตัวอย่าง หุ่นจำลอง เป็นต้น

               เทคนิคและวิธีการ (Technique and Method) การสื่อความหมายในการเรียนการสอน
บางครั้งไม่อาจทำได้ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์หรือวัสดุ แต่จะต้องอาศัยเทคนิคหรือวิธีการเพื่อการให้เกิดการเรียนรู้ หรือใช้ทั้งวัสดุอุปกรณ์และวิธีการไปพร้อม ๆ กัน แต่เน้นที่วิธีการเป็นสำคัญ เช่น การสาธิตประกอบการใช้เครื่องมือเครื่องจักร การทดลอง การแสดงบทบาทการศึกษานอกสถานที่ การจัดนิทรรศการ เป็นต้น ดังนั้นเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวจึงจัดว่าเป็นสื่อการเรียนการสอนอีกประเภทหนึ่ง แต่สื่อประเภทนี้มักจะใช้ร่วมกับสื่อ  2 ประเภทแรก จึงจะได้ผลดี

               เมื่อกล่าวถึงการสื่อการเรียนการสอนในกระบวนการเรียนการสอนโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงวัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ประกอบการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ มากกว่าเทคนิคหรือวิธีการ ดังนั้นจึงนิยมเรียกสื่อการเรียนการสอนว่าอุปกรณ์ช่วยสอนหรืออุปกรณ์การสอน (Teaching Aids) ซึ่งหมายถึงวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนรู้

ประเภทของสื่อการเรียนการสอน

สื่อการเรียนการสอนที่ใช้ประกอบในการเรียนการสอนเท่าที่พบเห็นและจากประสบการณ์ พอสรุป
เป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้คือ

               1.  กระดานดำ (Chalk Boards)
               2.  หนังสือ ตำราเรียน/ใบเนื้อหาและใบงาน (Book or text/Information and Worksheets)
               3.  แผ่นภาพ (Wall Charts)
               4.  แผ่นใส (Overhead Transparencies)/สไลด์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Slide)
               5.  โมเดลพลาสติก (Overhead Plastic Models)
               6.  ภาพสไลด์และแผ่นภาพยนต์ (Slide Series and Filmstrips)
               7.  แถบบันทึกเสียง (Audiotape Recordings)
               8.  แถบวิดีทัศน์/แผ่นวิดีทัศน์ (Videotape Recordings and Videodiscs)
               9.  หุ่นจำลอง (Models)
               10.  อุปกรณ์ทดลอง/สาธิต (Experimental/Demonstration Sets)
               11.  ของจริง (Real Objects)
               12.  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน(CAI) หรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์อื่นๆ เป็นต้น


บทสรุป

               ในระบบการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้
การเรียนการสอนดำเนินไปได้จนบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สื่อการเรียนการสอน
มีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติต่างกันไป ผู้สอนที่ตระหนักในคุณค่าของสื่อ
จะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงเงื่อนไขการเลือกใช้ และใช้งานได้อย่างถูกต้อง เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเลือกใช้สื่อ ได้แก่ เงื่อนไขที่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชา ตัวผู้เรียน วิธีการสอนความพร้อมทางด้านอื่น ๆ นอกจากนั้นก็ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวของสื่อแต่ละประเภท และแม้แต่เงื่อนไขที่ เกี่ยวกับตัวผู้สอนด้วยเมื่อมีความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน สามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง ก็มี
ความพร้อมที่ผู้สอนจะสามารถทำสื่อขึ้นใช้เอง แต่โดยมากมักจะประสบกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ใน
สถานศึกษา ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านั้น ก็ควรจะแก้ไขให้หมดไป ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือผู้บริหารและผู้สอนที่จะสามารถผลักดันให้มีสื่อการเรียนการสอนใช้ในสถานศึกษา นอกจากนั่นสิ่งสำคัญอีกประการที่ไม่ควรจะมองผ่าน ก็คือ ระบบการจัดเก็บสื่อการเรียนการสอน เพื่อทำให้การนำสื่อไปใช้สอนครบวงจร